Thailand Tax Updates - 24 November 2016

Thailand Tax Updates - 24 November 2016

ส่งสินค้าไปเก็บในคลังสินค้าต่างประเทศอาจถือว่าขาย

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
ส่งสินค้าไปเก็บในคลังสินค้าต่างประเทศอาจถือว่าขาย

อย่างทีทราบกันว่าวัตถุประสงค์หลักของการรวมตัวของสมาชิกอาเซียนคือการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างเสรี ซึ่งจะทำให้ตลาดการค้าเปิดกว้างขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการพิจารณาเปลี่ยนแปลงระบบ  supply chain เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าโดยใช้สิทธิประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

อย่างไรก็ดีตามที่ได้กล่าวย้ำอยู่เสมอว่ามาตรการทางด้านภาษีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมุ่งเน้นไปในเรื่องของการยกเลิกภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นภาษีที่เกี่ยวข้องโดยตรงเมื่อมีการเคลื่อนย้ายสินค้าจากประเทศสมาชิกหนึ่งไปยังอีกประเทศสมาชิกหนึ่ง ในส่วนของภาษีอากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนอกจากภาษีศุลกากรอันได้แก่ ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การจัดเก็บของกรมสรรพากรนั้นยังคงเป็นไปตามกฎหมายภาษีของแต่ละประเทศสมาชิก

 

แม้จะมีการเข้าร่วมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องภาษีอากรดังกล่าวแต่อย่างไร  เมื่อเราพูดถึงตลาด 600 ล้านคนแน่นอนว่าย่อมเกิดการแข่งขันเพื่อแย่งฐานลูกค้า การทำธุรกิจในปัจจุบันจึงมีการแข่งขันกันสูงมากทั้งในเรื่องของคุณภาพของสินค้าและบริการ แน่นอนความรวดเร็วและความทันต่อเวลาก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน ในการส่งวัตถุดิบหรือสินค้าให้ถึงมือผู้ซื้อภายในเวลาที่กำหนด บริษัทหลายแห่งทีมีการส่งออกสินค้าไปให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศมักจะเช่าคลังสินค้าในต่างประเทศและส่งสินค้าของตนจากประเทศไทยออกไปจัดเก็บไว้ที่คลังสินค้า เพื่อรอส่งขายให้แก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วเมื่อลูกค้าต้องการ หรือนำไปฝากไว้กับคลังสินค้าอิสระเพื่อรอการจัดส่งตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ซึ่งอาจจะยังไม่ปรากฏธุรกรรมการขายและกรรมสิทธิ์ในสินค้ายังเป็นของบริษัทอยู่

 

อย่างไรก็ตามในด้านภาษีเงินได้นิติบุคลของไทยตามประมวลรัษฎากรไทย กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้ถือว่าการที่ได้ส่งสินค้าไปนั้นเป็นการขายในประเทศไทยด้วยและให้ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งไปนั้นแม้ว่าจะยังไม่มีการขายและกรรมสิทธิ์ในสินค้าจะยังคงเป็นของบริษัทไทยอยู่ก็ตาม ยกเว้นสี่กรณีที่การส่งออกไปต่างประเทศไม่ถือเป็นขาย ได้แก่ (1) เป็นของที่ส่งไปเป็นตัวอย่างหรือเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ (2) เป็นของผ่านแดน (3) เป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วส่งกลับออกไปให้ผู้ส่งเข้ามาภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่สินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร (4) เป็นของที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วส่งกลับคืนเข้ามาให้ผู้ส่งในราชอาณาจักรภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (อ้างอิงมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร)

 

ฉะนั้น กรณีที่บริษัทส่งสินค้าออกจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ เพื่อเก็บรักษาในคลังสินค้าของตนเอง หรือฝากไว้กับคลังสินค้าอิสระ หรือไปเก็บ ณ ที่ใดๆ  เพื่อรอการขายไม่ว่าเป็นกรณีขายเอง หรือฝากผู้อื่นขาย (ตามสัญญาฝากขาย) ในทางภาษีประมวลรัษฎากรถือว่าเป็นการขายในประเทศไทย ณ เวลาที่มีการส่งออก บริษัทจึงต้องนำราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งสินค้าไปนั้น และคำนวณรายจ่ายตามเกณฑ์สิทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ยกเว้นกรณีส่งสินค้าไปต่างประเทศตามมาตรา 70 (ตรี) (1) (2) (3) และ (4) ไม่ถือเป็นขายในประเทศไทยตามที่กล่าวข้างต้น) นอกจากนี้ในปัจจุบันกรมสรรพากรยังสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้เสียภาษีของกรมศุลกากร

 

ดังนั้นในการตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากร หากบริษัทมีการส่งสินค้าเป็นประจำ กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบขอข้อมูลการส่งสินค้าของบริษัทจากกรมศุลกากรได้โดยตรง ซึ่งกรมสรรพากรจะใช้ข้อมูลส่งออกสินค้าจากฐานข้อมูลของกรมศุลกากรมาเปรียบเทียบกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ และ แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าของบริษัท หากพบว่าข้อมูลไม่ตรงกัน ตัวอย่างเช่น จากข้อมูลของกรมศุลกากรพบว่าบริษัทมีมูลค่าการส่งออกสินค้ามากกว่ามูลค่ารายรับจากการขายสินค้าส่งออกตามที่แจ้งไว้ในแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้แล้ว กรมสรรพากรอาจประเมินรายรับเพิ่มโดยถือว่าบริษัทแสดงรายรับขาดไป ทำให้มีภาระภาษีเงินได้เพิ่มเติมพร้อมทั้งค่าปรับเงินเพิ่ม

 

ในทางกลับกันหากมูลค่าส่งออกตามฐานข้อมูลของกรมศุลกากรต่ำกว่าในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มอาจเป็นไปได้ว่าบริษัทไม่ได้ส่งออกสินค้าซึ่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์ ก็อาจมีผลให้บริษัทถูกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 พร้อมค่าปรับและเงินเพิ่มสำหรับส่วนที่แตกต่างกัน ดังนั้นบริษัทที่มีการส่งออกสินค้าที่เข้าข่ายไม่ถือว่าเป็นการขายในประเทศไทย ควรจะมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าที่ส่งออกไปนั้นเข้าข้อยกเว้นตามที่กล่าวมาแล้ว

 

นอกจากนี้แล้วกิจการยังต้องพิจารณาภาระภาษีในประเทศที่คลังสินค้าตั้งอยู่ว่าจะทำให้กิจการมีภาระภาษีใดๆ ในประเทศดังกล่าวหรือไม่เนื่องจากการมีคลังสินค้าในต่างประเทศอาจถูกถือเสมือนหนึ่งเป็นการประกอบกิจการในประเทศดังกล่าวผ่านทางสาขาอันมีผลให้ต้องเสียภาษีภายใต้กฎหมายของประเทศนั้นๆ ด้วยเหตุที่แต่ละประเทศสมาชิกยังสิทธิเก็บภาษีได้ตามกฎหมายภายในประเทศของตน กิจการจึงต้องศึกษาและเข้าใจภาษีอากรของแต่ละประเทศที่จะเข้าไปประกอบกิจการ

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us