Thailand Tax Updates - 28 June 2016

Thailand Tax Updates - 28 June 2016

การร่วมมือระหว่างประเทศในมาตรการและนโยบายภาษี

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
BEPS

ในเรื่องของมาตรการภาษีโดยเฉพาะเรื่องนโยบายภาษีระหว่างประเทศ เรามักจะได้ยินการกล่าวถึงบทบาทขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า OECD (Organization for Economic Co-operation and Development ) อยู่เสมอ OECDเป็นองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญระดับโลก สมาชิกกลุ่มแรกประกอบด้วยประเทศในยุโรปที่เป็นประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว และต่อมาได้ขยายออกรับสมาชิกซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีนอกยุโรป ในปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 34 ประเทศ รวมถึง เกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเพียงสองประเทศในเอเชียที่เป็นสมาชิก OECD

 

ในปัจจุบัน OECD มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศสมาชิก โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมการค้าเสรี และให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ ภารกิจของ OECD รวมถึงการวิเคราะห์แนวทางที่นโยบายต่างๆ จะสามารถมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกและกับประเทศภายนอกกลุ่ม โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาข้ามชาติต่างๆ อันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ เริ่มตั้งแต่ปี 2556 ประเทศสมาชิกในกลุ่ม OECD ได้ร่วมหารือกันเพื่อดำเนินการหามาตรการป้องกันการวางแผนภาษีที่จะมีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำไรเพื่อเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่าหรือที่เรียกว่า BEPS (Base Erosion and Profit Shifting) ซึ่งต่อมาในเดือนตุลาคม 2558 กลุ่มประเทศเหล่านี้ตกลงกันออกมาเป็นแผนปฏิบัติการ BEPS ที่ประเทศในกลุ่มนี้มีพันธกรณีที่จะต้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศของตนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการ BEPS ที่ตกลงร่วมกันไว้ ทั้งนี้มาตรการ BEPS ยังได้รับความเห็นชอบจากประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจ G 20 ด้วย ทำให้ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD แต่อยู่ในกลุ่ม G20 ยอมรับที่จะร่วมพันธกรณีในมาตรการ BEPS ด้วย ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนมีเพียงอินโดนีเซียที่เข้าร่วมพันธกรณีในฐานะสมาชิกกลุ่ม G 20

 

หันมาดูอาเซียนซึ่งไม่มีประเทศใดในอาเซียนเป็นสมาชิกใน OECD เลย จะมีเพียงอินโดนีเซียที่ร่วมพันธกรณีในฐานะสมาชิกในกลุ่ม G20 อาจจะมีคำถามว่าแล้วประเทศสมาชิกอาเซียนนอกจากอินโดนีเซียจะต้องร่วมพันธกรณีในมาตรการ BEPS ที่เสนอโดย  OECD ด้วยหรือไม่ เนื่องจากมาตรการ BEPS มุ่งไปในเรื่องมาตรการและนโยบายภาษีที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายกำไรระหว่างประเทศ แม้อาเซียนจะไม่ได้มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการ BEPS แต่ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ OECD ได้พยายามผลักดันให้ประเทศนอก OECD และ G20 ให้ร่วมพันธกรณีในมาตรการ BEPS ด้วย

 

ที่เห็นอย่างชัดเจนก็จะเป็นเรื่องการผลักดันในเรื่องกฎหมาย Transfer Pricing การกำหนดให้มีเอกสารที่เปิดเผยข้อมูลในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ แม้ประเทศที่ไม่ได้ร่วมพันธกรณีในมาตรการ BEPS ก็จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลอันเนื่องมาจากการมีธุรกรรมในหรือผ่านประเทศที่มีกฎหมายบังคับตามมาตรการ BESPของ OECD/G20 ส่วนหนึ่งในการผลักดันของ OECD ต่อภูมิภาคนี้คือการเข้าพบหรือเจรจาโดยตรงกับประเทศนอกสมาชิก และการให้ความช่วยเหลือในด้านวิชาการ ซึ่งในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ทราบมาว่าจะมีการจัดอบรมในเรื่อง transfer pricing ที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นครั้งแรกของความร่วมมือระหว่าง SGATAR กับ OCED  ทั้งนี้  SGATAR (The Study Group on Asian Tax Administration and Research: คณะศึกษาด้านการบริหารและค้นคว้าทางภาษีอากรแห่งเอเชีย) เป็นการร่วมมือของกลุ่มประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดเก็บภาษีอากรและในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การนำเสนอแนวทางเพื่อการบริหารจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยบริหารจัดเก็บภาษีในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะมีการประชุม ที่เรียกว่า SGATAR meeting ปีละครั้งในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยแต่ละประเทศในกลุ่ม SGATAR จะส่งตัวแทนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพกรระดับสูงเข้าร่วมประชุม

 

ในปัจจุบัน กลุ่ม SGATAR มีสมาชิกทั้งหมด 17 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งประเทศที่เป็นสมาชิก  OECD และ G20 และ AEC ได้แก่ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี เขตปกครองพิเศษมาเก๊า มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกีนี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งทีผ่านมาอธิบดีกรมสรรพากรไทยก็ได้เข้าร่วมประชุมกับ กลุ่ม SGATAR ด้วย แม้จะไม่ทั้งหมดทุกประเทศในอาเซียนที่เป็นสมาชิกในกลุ่มนี้ก็ตาม แต่ในการประชุมที่ผ่านๆ มาก็ทราบจากข่าวว่า ลาว ก็มีการส่งบุคคลากรมาร่วมสังเกตการณ์ ในการประชุม SGATAR  ด้วย จึงถือได้ว่า การประชุม SGATAR เป็นเวทีที่มีโอกาสที่ประเทศสมาชิก OECD สามารถให้ข้อมูลแก่สมาชิกอาเซียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดเก็บรวมถึงผลักดันมาตรการ BEPS ของ OECD  จึงมีแนวโน้มว่า แม้ อาเซียนจะไม่ได้มีพันธกรณีในมาตรการ BEPS  หรือมาตราอื่นๆ ของ OECD โดยตรง แต่คงหนีไม่พ้นที่จะต้องนำมาตรการดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศของตน

 

องค์กร
ประเทศสมาชิกอาเซียน
OECD ไม่มี
G 20 อินโดนีเซีย
SGATAR 7 ประเทศยกเว้น
เมียนมาร์ ลาว บรูไน

แนวทางมาตรการ BEPS

  1. การเพิ่มความเข้มงวดในการใช้หลักการ Transfer Pricing ผ่านการรายงานที่โปร่งใสและรัดกุมมากยิ่งขึ้น
  2. การปรับปรุง Model Tax Convention เพื่อให้ความตกลงยกเว้นภาษีซ้อนต่างๆ ไม่ถูกใช้ประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงภาษี
  3. การปิดช่องว่างระหว่างกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ และ
  4. การเตรียมรองรับผลกระทบจาก Digital Economy ที่อาจเปิดโอกาสให้มีการแสวงหาประโยชน์ได้   

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us